ฝีเท้าไว วัดด้วยการรู้อริยสัจ

ภิกษุ ท.! ม้าอาชาไนยตัวเจริญของพระราชา ประกอบด้วยองค์ 4 ย่อมเป็นม้าที่คู่ควรแก่พระราชา เป็นราชูปโภค ถึงซึ่งการนับว่าเป็นอังคาพยพของพระราชา. องค์ 4 อะไรกันเล่า ? องค์ 4 คือ สมบูรณ์ด้วยวรรณะ ด้วยพละ ด้วยชวะ ด้วยอาโรหปริณาหะ (ทรวดทรง). ภิกษุ ท.! ฉันเดียวกันกับที่ภิกษุประกอบด้วยธรรม 4 ประการ ย่อมเป็นบุคคลอาหุเนยย ปาหุเนยย ทักขิเณยย อัญชลีกรณีย และเป็นนาบุญแห่งโลกอันไม่มีนาบุญอื่นยิ่งกว่า. ธรรม 4 ประการ อย่างไรเล่า ? 4 ประการคือ สมบูรณ์ด้วยวรรณะ ด้วยพละ ด้วยชวะ ด้วยอาโรหปริณาหะ.

ภิกษุ ท.! ภิกษุสมบูรณ์ด้วยวรรณะ เป็นอย่างไรเล่า ? ภิกษุในกรณีนี้ เป็นผู้มีศีล สำรวมด้วยปาติโมกขสังวร สมบูรณ์ด้วยมรรยาทและโคจร มีปกติเห็นเป็นภัยในโทษทั้งหลายแม้ที่ถือกันว่าเป็นโทษเล็กน้อย สมาทานศึกษา อยู่ในสิกขาบทั้งหลาย

ภิกษุ ท.! ภิกษุสมบูรณ์ด้วยพละ เป็นอย่างไรเล่า ? ภิกษุในกรณีนี้ เป็นผู้ปรารภความเพียร เพื่อละธรรมอันเป็นอกุศล เพื่อความถึงพร้อมแห่งธรรมอันเป็นกุศล มีกำลัง(จิต) ทำความเพียรก้าวไปหน้าอย่างมั่นคง ไม่ทอดธุระในกุศลธรรมทั้งหลาย.

ภิกษุ ท.! ภิกษุสมบูรณ์ด้วยชวะ เป็นอย่างไรเล่า ? ภิกษุในกรณีนี้ ย่อมรู้ชัดตามเป็นจริงว่า "ทุกข์ เป็นอย่างนี้, เหตุให้เกิดทุกข์ เป็นอย่างนี้, ความดับไม่เหลือแห่งทุกข์ เป็นอย่างนี้, ทางดำเนินให้ถึงความดับไม่เหลือแห่งทุกข์ เป็นอย่างนี้", ดังนี้.

ภิกษุ ท.! ภิกษุสมบูรณ์ด้วยอาโรหปริณาหะ เป็นอย่างไรเล่า ? ภิกษุในกรณีนี้ เป็นผู้มีการได้จีวร บิณฑบาต เสนาสนะ และคิลานปัจจยเภสัชชบริขารเป็นปกติ.

ภิกษุ ท.! ภิกษุประกอบด้วยธรรม 4 ประการเหล่านี้แล ย่อมเป็นบุคคลอาหุเนยย ปาหุเนยย ทักขิเณยย อัญชลีกรณีย และเป็นนาบุญแห่งโลกอันไม่มีนาบุญอื่นยิ่งกว่า, ดังนี้แล.

- จตุกฺก. อํ. 21/337/259.

[ในสูตรถัดไป (จตุกฺก.อํ. 21/338/260) ทรงแสดงลักษณะแห่ง ภิกษุผู้สมบูรณ์ด้วยชวะ ว่าได้แก่ภิกษุผู้กระทำให้แจ้ง ซึ่งเจโตวิมุตติปัญญาวิมุตติอันไม่มีอาสวะเพราะความสิ้นไปแห่งอาสวะ ด้วยปัญญาอันยิ่งเอง ในทิฏฐธรรมนี้ เข้าถึงแล้วแลอยู่. คำว่า "ชวะ" ในที่นี้ หมายถึงความเร็วของการบรรลุธรรม ก้าวล่วงความทุกข์ เหมือนความเร็วแห่งม้ามีฝีเท้าดี ฉะนั้น.

และในสูตรอื่น (20/316/537) แทรงแสดงลักษณะภิกษุผู้สมบูรณ์ด้วยเชาว์ (ชวะ) ว่าได้แก่ภิกษุผู้เป็นโอปปาติกอนาคามี มีการปรินิพพานในภพนั้น ไม่มีการเวียนกลับจากโลกนั้นเป็นธรรมดา เพราะความสิ้นไปแห่งโอรัมภาคิยสังโยชน์ทั้ง 5].


เกี่ยวกับธรรมโฆษณ์ออนไลน์ (Disclaimer)
แม้ระบบ "ธรรมโฆษณ์ออนไลน์" พยายามปรับปรุงข้อมูลให้ถูกต้องมากที่สุด ผู้ศึกษาก็พึงตรวจสอบกับตัวเล่มหนังสือต้นฉบับ ที่มีการพิมพ์ครั้งล่าสุด ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง"

หนังสือที่เกี่ยวข้อง