ปธาน 4 ในฐานะสัมมัปปธาน

ภิกษุ ท. ! ปธาน 4 อย่าง เหล่านี้ มีอยู่. 4 อย่าง อย่างไรเล่า ? 4 อย่างคือ สังวรปธาน ปหานปธาน ภาวนาปธาน อนุรักขนาปธาน.

ภิกษุ ท. ! สังวรปธาน เป็นอย่างไรเล่า ? ภิกษุ ท. ! ภิกษุในกรณีนี้ เห็นรูปด้วยตา แล้ว ไม่เป็นผู้ถือเอาในลักษณะที่เป็นการรวบถือเอาทั้งหมด (รวมเป็นภาพเดียว) ไม่เป็นผู้ถือเอาในลักษณะที่เป็นการถือเอาโดยแยกเป็นส่วนๆ ; อกุศลธรรมอันลามก คือ อภิชฌาและโทมนัส จะพึงไหลไปตามบุคคลผู้ไม่สำรวมอยู่ซึ่งอินทรีย์อันเป็นต้นเหตุคือตา ใด, เธอย่อมปฏิบัติเพื่อสำรวมซึ่งอินทรีย์นั้น, ย่อมรักษาอินทรีย์คือตา ย่อมถึงการสำรวมในอินทรีย์ คือตา. (ในกรณีแห่งอินทรีย์คือ หู อินทรีย์คือ จมูก อินทรีย์คือ ลิ้น อินทรีย์คือ กาย และอินทรีย์คือ ใจ ก็มีข้อความที่ได้ตรัสไว้ทำนองเดียวกัน). ภิกษุ ท. ! นี้เรากล่าวว่า สังวรปธาน.

ภิกษุ ท. ! ปหานปธาน เป็นอย่างไรเล่า ? ภิกษุ ท. ! ภิกษุในกรณีนี้ ไม่รับเอาไว้ สละทิ้งไป ถ่ายถอนออก ทำให้สิ้นสุดเสีย ทำให้ถึงความไม่มี ซึ่งกามวิตก ที่เกิดขึ้นแล้ว .... ซึ่งพ๎ยาบาทวิตก ที่เกิดขึ้นแล้ว .... ซึ่ง วิหิงสาวิตก ที่เกิดขึ้นแล้ว ... ซึ่งอกุศลธรรมอันลามกทั้งหลาย ที่บังเกิดขึ้นแล้วๆ. ภิกษุ ท. ! นี้เรากล่าวว่า ปหานปธาน.

ภิกษุ ท. ! ภาวนาปธาน เป็นอย่างไรเล่า ? ภิกษุ ท. ! ภิกษุในกรณีนี้ ย่อมเจริญซึ่ง สติสัมโพชฌงค์ .... ซึ่ง ธัมมวิจยสัมโพชฌงค์ ... ซึ่ง วิริยสัมโพชฌงค์ .... ซึ่ง ปีติสัมโพชฌงค์ .... ซึ่ง ปัสสัทธิสัมโพชฌงค์ .... ซึ่ง สมาธิสัมโพชฌงค์ .... ซึ่ง อุเบกขาสัมโพชฌงค์ อัน (แต่ละอย่างๆ) อาศัยวิเวก อาศัยวิราคะ อาศัยนิโรธ น้อมไปเพื่อความปล่อยวาง. ภิกษุ ท. ! นี้เรากล่าวว่า ภาวนาปธาน.

ภิกษุ ท. ! อนุรักขนาปธาน เป็นอย่างไรเล่า ? ภิกษุ ท. ! ภิกษุในกรณีนี้ ย่อมตามรักษาซึ่งสมาธินิมิตอันเจริญ ที่เกิดขึ้นแล้ว (คือรักษาความสำคัญรู้ ในภาวะของซากศพต่างๆ กัน 6 ชนิด) คือ อัฏฐิกสัญญา ปุฬวกสัญญา วินีลกสัญญา วิปุพพกสัญญา วิจฉิททกสัญญา อุทธุมาตกสัญญา19.1. ภิกษุ ท. ! นี้เรียกว่า อนุรักขนาปธาน.

ภิกษุ ท. ! ปธาน 4 อย่าง เหล่านี้ แล.

- จตุกฺก. อํ. ๒๑/๒๐/๑๔.


เกี่ยวกับธรรมโฆษณ์ออนไลน์ (Disclaimer)
แม้ระบบ "ธรรมโฆษณ์ออนไลน์" พยายามปรับปรุงข้อมูลให้ถูกต้องมากที่สุด ผู้ศึกษาก็พึงตรวจสอบกับตัวเล่มหนังสือต้นฉบับ ที่มีการพิมพ์ครั้งล่าสุด ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง"

หนังสือที่เกี่ยวข้อง