ไปยังหน้า : |
ภิกษุ ท.! ก็ ชรามรณะ เป็นอย่างไรเล่า? ความแก่ ความคร่ำคร่า ความมีฟันหลุด ความมีผมหงอก ความหนังเหี่ยว ความสิ้นไป ๆ แห่งอายุ ความแก่รอบแห่งอินทรีย์ทั้งหลาย ในสัตวนิกายนั้น ๆ ของสัตว์ทั้งหลายเหล่านั้น ๆ : นี้เรียกว่าชรา. การจุติ ความเคลื่อน การแตกสลาย การหายไป การวายชีพ กายตาย การทำกาละ การแตกแห่งขันธ์ทั้งหลาย การทอดทิ้งร่าง การขาดแห่งอินทรีย์คือชีวิต จากสัตวนิกายนั้น ๆ ของสัตว์ทั้งหลายเหล่านั้น ๆ : นี้เรียกว่ามรณะ. ชรานี้ด้วย มรณะนี้ด้วย ย่อมมีอยู่ดังนี้; ภิกษุ ท.! นี้เรียกว่า ชรามรณะ. ความก่อขึ้นพร้อมแห่งชรามรณะ ย่อมมี เพราะความก่อขึ้นพร้อมแห่งชาติ ; ความดับไม่เหลือแห่งชรามรณะ ย่อมมี เพราะความดับไม่เหลือแห่งชาติ ; มรรคอันประกอบด้วยองค์แปดอันประเสริฐนั่นเอง เป็น ปฏิปทาให้ถึงความดับไม่เหลือแห่งชรามรณะ, ได้แก่สิ่งเหล่านี้คือ ความเห็นชอบ ความดำริชอบ การพูดจาชอบ การทำการงานชอบ การเลี้ยงชีวิตชอบความพากเพียรชอบ ความระลึกชอบ ความตั้งใจมั่นชอบ.
ภิกษุุ ท.! อริยสาวกย่อมมารู้ทั่วถึง ซึ่งชรามรณะ ว่าเป็นอย่างนี้ ๆ, มารู้ทั่วถึง ซึ่งเหตุให้เกิดขึ้นแห่งชรามรณะ ว่าเป็นอย่าง ๆ, มารู้ทั่วถึง ซึ่งความดับไม่เหลือแห่งชรามรณะ ว่าเป็นอย่างนี้ ๆ, มารู้ทั่วถึง ซึ่งข้อปฏิบัติเครื่องทำสัตว์ให้ลุถึงความดับไม่เหลือแห่งชรามรณะ ว่าเป็นอย่าง ๆ, ในกาลใด ; ในกาลนั้น ความรู้นี้ของอริยสาวกนั้น ชื่อว่า ธัมมญาณ (ญาณในธรรม). ด้วยธรรมนี้อันอริยสาวกนั้นเห็นแล้ว รู้แล้ว บรรลุแล้ว หยั่งลงแล้ว และเป็นธรรมอันใช้ได้ไม่จำกัดกาล, อริยสาวกนั้น ย่อมนำความรู้นั้นไปสู่นัยะอันเป็นอดีตและอนาคต (ต่อไปอีก) ว่า "สมณะหรือพราหมณ์เหล่าใดเหล่าหนึ่ง ในกาลยืดยาวนานฝ่ายอดีต ได้รู้อย่างยิ่งแล้ว ซึ่งชรามรณะ, ได้รู้อย่างยิ่งแล้ว ซึ่งเหตุให้เกิดขึ้นแห่งชรามรณะ, ได้รู้อย่างยิ่งแล้ว ซึ่งความดับไม่เหลือแห่งชรามรณะ, ได้รู้อย่างยิ่งแล้ว ซึ่งข้อปฏิบัติเครื่องทำสัตว์ให้ลุถึงความดับไม่เหลือแห่งชรามรณะ ; สมณะหรือพราหมณ์เหล่านั้นทุกท่าน ก็ได้รู้อย่างยิ่งแล้ว เหมือนอย่างที่เราเองได้รู้อย่างยิ่งแล้วในบัดนี้. ถึงแม้สมณะหรือพราหมณ์เหล่าใดเหล่าหนึ่ง ในกาลยืดยาวนานฝ่ายอนาคต จักรู้อย่างยิ่ง ซึ่งชรามรณะ, จักรู้อย่างยิ่ง ซึ่งเหตุให้เกิดขึ้นแห่งชรามรณะ, จักรู้อย่างยิ่ง ซึ่งความดับไม่เหลือแห่งชรามรณะ, จักรู้อย่างยิ่ง ซึ่งข้อปฏิบัติเครื่องทำสัตว์ให้ลุถึงความดับไม่เหลือแห่งชรามรณะ, ก็ตาม; สมณะหรือพราหมณ์เหล่านั้นทุกท่านก็จักรู้อย่างยิ่ง เหมือนอย่างที่เราเองได้รู้อย่างยิ่งแล้วในบัดนี้" ดังนี้. ความรู้นี้ของอริยสาวกนั้น ชื่อว่า อันวยญาณ (ญาณในการรู้ตาม).
ภิกษุ ท.! ญาณทั้งสอง คือธัมมญาณและอันวยญาณเหล่านี้ของอริยสาวก เป็นธรรมชาติบริสุทธิ์ ผ่องใส ในกาลใด; ภิกษุ ท.! ในกาลนั้น เราเรียก อริยสาวกนั้น ว่า "ผู้ถึงพร้อมแล้วด้วยทิฏฐิ", ดังนี้บ้าง ; ว่า "ผู้ถึงพร้อมแล้วด้วยทัสสนะ", ดังนี้บ้าง; ว่า "ผู้มาถึงพระสัทธรรมนี้แล้ว", ดังนี้บ้าง; ว่า "ได้เห็นอยู่ซึ่งพระสัทธรรมนี้", ดังนี้บ้าง ; ว่า "ผู้ประกอบแล้วด้วยญาณอันเป็นเสขะ", ดังนี้บ้าง; ว่า "ผู้ประกอบด้วยวิชชาอันเป็นเสขะ", ดังนี้บ้าง ; ว่า "ผู้ถึงซึ่งกระแสแห่งธรรมแล้ว", ดังนี้บ้าง ; ว่า "ผู้ประเสริฐ มีปัญญาเครื่องชำแรกกิเลส", ดังนี้บ้าง ; ว่า "ยืนอยู่จดประตูแห่งอมตะ", ดังนี้บ้าง, ดังนี้.
(ข้อความข้างบนนี้ เป็นกรณีแห่งปฏิจจสมุปปันธรรมคือชราและมรณะ ที่อริยสาวกมารู้ทั่วถึงโดยนัยแห่งอริยสัจสี่แล้ว ทำให้มีธัมมญาณและอันวยญาณ และทำให้เป็นผู้ถึงพร้อมแล้วด้วยทิฏฐิเป็นต้น, ต่่อไปได้้ตรัสถึงปฏิจจสมุุปปันนธรรม คือ ชาติิ...ภพ ...อุปาทาน ...ตัณหา ...เวทนา ...ตัสสะ ...สฬายตนะ ...นามรูป ...วิญญาณ ...สังขารแต่ละอย่าง ๆ ว่าอริยสาวกมารู้ทั่วถึงโดยนัยแห่งอริยสัจสี่แล้ว ก็ทำให้มีธัมมญาณและอันวยญาณเป็นต้น ได้อย่างเดียวกันกับในกรณีแห่งปฏิจจสมุปปันนธรรมคือ ชราและมรณะนั้น; รายละเอียดหาอ่านดูได้จากกหนังสือปฏิจจ. โอ. หมวดที่ 6 หัวข้อว่า "ญาณวัตถุ 44 ในปฏิจจสมุปบาท เพื่อความเป็นโสดาบัน").
- นิทาน. สํ. 16/68-71/120-125.