ไปยังหน้า : |
“ท่านผู้มีอายุ ท. ! เมื่อใดแล อริยสาวก มารู้ชัดซึ่งอกุศลและอกุศลมูลด้วย มารู้ชัดซึ่งกุศลและกุศลมูลด้วย ; แม้ด้วยเหตุเพียงเท่านี้ อริยสาวกนั้น ชื่อว่าเป็นผู้มีสัมมาทิฏฐิ ทิฏฐิของเขาดำเนินไปตรง เขาประกอบแล้วด้วยความเลื่อมใสไม่หวั่นไหวในธรรม มาสู่พระสัทธรรมนี้.
“ท่านผู้มีอายุ ท. ! สิ่งที่เรียกว่า อกุศล นั้น เป็นอย่างไรเล่า ? ท่านผู้มีอายุ ท. ! การทำสัตว์มีชีวิตให้ตกล่วง เป็นอกุศล ; การถือเอาสิ่งของที่เจ้าของมิได้ให้ เป็นอกุศล ; วาจาส่อเสียด เป็นอกุศล ; วาจาหยาบ เป็นอกุศล ; การกล่าวคำเพ้อเจ้อ เป็นอกุศล ; อภิชฌา เป็นอกุศล ; พยาบาท เป็นอกุศล ; มิจฉาทิฏฐิ เป็นอกุศล. ท่านผู้มีอายุ ท. ! เหล่านี้ท่านกล่าวว่า เป็นอกุศล.
“ท่านผู้มีอายุ ท. ! สิ่งที่เรียกว่า อกุศลมูล นั้น เป็นอย่างไรเล่า ? โลภะ เป็นอกุศลมูล ; โทสะ เป็นอกุศลมูล ; โมหะ เป็นอกุศลมูล. ท่านผู้มีอายุ ท. ! เหล่านี้ท่านกล่าวว่า เป็นอกุศลมูล.
“ท่านผู้มีอายุ ท. ! สิ่งที่เรียกว่า กุศล นั้น เป็นอย่างไรเล่า ? ท่านผู้มีอายุ ท. ! เจตนาเว้นจากปาณาติบาต เป็นกุศล ; เจตนาเว้นจากอทินนาทาน เป็นกุศล ; เจตนาเว้นจากกาเมสุมิจฉาจาร เป็นกุศล ; เจตนาเว้นจากมุสาวาท เป็นกุศล ; เจตนาเว้นจากปิสุณาวาท เป็นกุศล ; เจตนาเว้นจากผรุสวาท เป็นกุศล ; เจตนาเว้นจากสัมผัปปลาปวาท เป็นกุศล ; อนภิชฌา เป็นกุศล ; อัพยาบาท เป็นกุศล ; สัมมาทิฏฐิ เป็นกุศล. ท่านผู้มีอายุ ท. ! เหล่านี้ท่านกล่าวว่า เป็นกุศล.
“ท่านผู้มีอายุ ท. ! สิ่งที่เรียกว่า กุศลมูล นั้น เป็นอย่างไรเล่า ? อโลภะ เป็นกุศลมูล ; อโทสะ เป็นกุศลมูล ; อโมหะ เป็นกุศลมูล. ท่านผู้มีอายุ ท. ! เหล่านี้ท่านกล่าวว่า เป็นกุศลมูล.
“ท่านผู้มีอายุ ท. ! ในกาลใดแล อริยสาวกมารู้ชัดซึ่งอกุศลอย่างนี้, รู้ชัดซึ่งอกุศลมูลอย่างนี้, รู้ชัดซึ่งกุศลอย่างนี้, รู้ชัดซึ่งกุศลมูลอย่างนี้. อริยสาวกนั้น ละราคานุสัย บรรเทาปฏิฆานุสัย ถอนอนุสัยแห่งทิฏฐิและมานะว่า เรามีเราเป็น ได้โดยประการทั้งปวง ละอวิชชาแล้ว ทำวิชชาให้เกิดขึ้น เธอกระทำที่สุดแห่งทุกข์ได้ ในทิฏฐธรรมนี้นั่นเทียว. ท่านผู้มีอายุ ท. ! แม้ด้วยเหตุมีประมาณเท่านี้แล อริยสาวกนั้นชื่อว่าเป็นผู้มีสัมมาทิฏฐิ ทิฏฐิของเขาดำเนินไปตรง เขาประกอบแล้วด้วยความเลื่อมใสไม่หวั่นไหวในธรรม มาสู่พระสัทธรรมนี้.”