วิธีพิจารณาเพื่อ "หมดปัญหา" เกี่ยวกับอาหาร

ภิกษุ ท. ! กพฬีการาหาร เป็นสิ่งที่บุคคลควรเห็นอย่างไร ? ภิกษุ ท. ! เปรียบเหมือนภรรยาสามี 2 คน ถือเอาสะเบียงสำหรับเดินทางเล็กน้อย เดินไปสู่หนทางอันกันดาร. สองภรรยาสามีนั้น มีบุตรน้อยคนเดียวผู้น่ารักน่าเอ็นดูอยู่คนหนึ่ง. เมื่อขณะเขาทั้งสองกำลังเดินไปตามทางอันกันดารอยู่นั้น สะเบียงสำหรับเดินทางที่เขามีอยู่เพียงเล็กน้อยนั้น ได้หมดสิ้นไป หนทางอันกันดารนั้นยังเหลืออยู่ เขาทั้งสองนั้นยังไม่เดินข้ามหนทางอันกันดารนั้นไปได้. ครั้งนั้นแล สองภรรยาสามีนั้นได้มาคิดกันว่า “สะเบียงสำหรับเดินทางของเราทั้งสองที่มีอยู่เพียงเล็กน้อยนี้ ได้หมดสิ้นลงแล้ว หนทางอันกันดารนี้ยังเหลืออยู่ ทั้งเราก็ยังไม่เดินข้ามหนทางอันกันดารนี้ไปได้ ; อย่ากระนั้นเลย เราทั้งสองคนพึงฆ่าบุตรน้อยคนเดียวผู้น่ารักน่าเอ็นดูนี้เสีย แล้วทำให้เป็นเนื้อเค็มและเนื้อย่าง บริโภคเนื้อบุตรนี้แหละ เดินข้ามหนทางอันกันดารที่ยังเหลืออยู่นี้กันเถิด เพราะถ้าไม่ทำเช่นนี้ พวกเราทั้งสามคนจะต้องพากันพินาศหมดแน่” ดังนี้. ครั้งนั้นแล ภรรยาสามีทั้งสองนั้น จึงฆ่าบุตรน้อยคนเดียวผู้น่ารักน่าเอ็นดูนั้น แล้วทำให้เป็นเนื้อเค็มและเนื้อย่าง บริโภคเนื้อบุตรนั้นเทียว เดินข้ามหนทางอันกันดารที่ยังเหลืออยู่นั้น. สองภรรยาสามีนั้น บริโภคเนื้อบุตรไปพลางพร้อมกับข้อนอกไปพลาง รำพันว่า “บุตรน้อยคนเดียวของเราไปไหนเสีย บุตรน้อยคนเดียวของเราไปไหนเสีย” ดังนี้.

ภิกษุ ท. ! เธอจะสำคัญความข้อนี้ว่าอย่างไร : สองภรรยาสามีนั้นจะพึงบริโภคเนื้อบุตรเป็นอาหาร เพื่อความเพลิดเพลินสนุกสนานบ้าง เพื่อความมัวเมาบ้าง เพื่อความประดับประดาบ้าง หรือเพื่อตบแต่ง (ร่างกาย) บ้าง, หรือหนอ ? “ข้อนั้นหาเป็นเช่นนั้นไม่ พระเจ้าข้า !” ถ้าอย่างนั้น สองภรรยาสามีนั้นจะพึงบริโภคเนื้อบุตรเป็นอาหาร เพียงเพื่อ (อาศัย) เดินข้ามหนทางอันกันดารเท่านั้น ใช่ไหม ? “ใช่ พระเจ้าข้า !” ภิกษุ ท. ! ข้อนี้มีอุปมาฉันใด ; เรากล่าวว่ากพฬีการาหารอันอริยสาวกควรเห็น (ว่ามีอุปมาเหมือนเนื้อบุตร) ฉันนั้น. ภิกษุ ท. ! เมื่อกพฬีการาหารอันอริยสาวกกำหนดรู้ได้แล้ว ; ราคะ (ความกำหนัด) ที่มีเบญจกามคุณเป็นแดนเกิด ย่อมเป็นสิ่งที่อริยสาวกนั้นกำหนดรู้ได้แล้วด้วย. เมื่อราคะที่มีเบญจกามคุณเป็นแดนเกิด เป็นสิ่งที่อริยสาวกนั้นกำหนดรู้ได้แล้ว, สังโยชน์ชนิดที่อริยสาวกประกอบเข้าแล้ว จะพึงเป็นเหตุให้มาสู่โลกนี้ได้อีก ย่อมไม่มี.

ภิกษุ ท. ! ผัสสาหาร เป็นสิ่งที่บุคคลควรเห็นอย่างไร ? ภิกษุ ท. ! เปรียบเหมือนแม่โคนมที่ปราศจากหนังห่อหุ้ม : ถ้าแม่โคนมนั้นพึงยืนพิงฝาอยู่ไซร้, มันก็จะพึงถูกพวกตัวสัตว์ที่อาศัยฝาเจาะกิน ; ถ้าแม่โคนมนั้นพึงยืนพิงต้นไม้อยู่ไซร้, มันก็จะพึงถูกพวกสัตว์ชนิดอาศัยต้นไม้ไชกิน ; ถ้าหากแม่โคนมนั้นพึงลงไปแช่น้ำอยู่ไซร้, มันก็จะพึงถูกพวกสัตว์ที่อาศัยน้ำตอดกันกิน ; ถ้าหากแม่โคนมนั้นจะพึงยืนอาศัยอยู่ในที่โล่งแจ้งไซร้, มันก็จะพึงถูกพวกสัตว์ที่อาศัยอยู่ในอากาศเกาะกัดจิกกิน ; ภิกษุ ท. ! แม่โคนมที่ปราศจากหนังห่อหุ้ม จะพึงไปอาศัยอยู่สถานที่ใด ๆ ก็ตาม มันก็จะพึงถูกจำพวกสัตว์ที่อาศัยอยู่ในสถานที่นั้น ๆ กัดกินอยู่ร่ำไป, ข้อนี้มีอุปมาฉันใด ; ภิกษุ ท. ! เราย่อมกล่าวว่า ผัสสาหาร อันอริยสาวกควรเห็น (ว่ามีอุปมาเหมือนแม่โคนมที่ปราศจากหนังห่อหุ้ม) ฉันนั้น. ภิกษุ ท. ! เมื่อผัสสาหารอันอริยสาวกกำหนดรู้ได้แล้ว เวทนาทั้ง 3 ย่อมเป็นสิ่งที่อริยสาวกนั้นกำหนดรู้ได้แล้วด้วย, เมื่อเวทนาทั้งสามเป็นสิ่งที่อริยสาวกนั้นกำหนดรู้ได้แล้ว เราย่อมกล่าวว่า “สิ่งไร ๆ ที่ควรกระทำให้ยิ่งขึ้นไป (กว่านี้) ย่อมไม่มีแก่อริยสาวกนั้น” ดังนี้.

ภิกษุ ท. ! มโนสัญเจตนาหาร เป็นสิ่งที่บุคคลควรเห็นอย่างไร ? ภิกษุ ท. ! เปรียบเหมือนหลุมถ่านเพลิง ลึกเกินกว่าชั่วบุรุษหนึ่ง เต็มด้วยถ่านเพลิงที่ปราศจากเปลวและปราศจากควัน มีอยู่. ครั้งนั้น บุรุษผู้หนึ่งผู้ต้องการเป็นอยู่ ไม่อยากตาย รักสุข เกลียดทุกข์ มาสู่ที่นั้น. และมีบุรุษที่มีกำลังกล้าแข็งอีกสองคน จับบุรุษนั้นที่แขนแต่ละข้าง แล้วฉุดคร่าไปยังหลุมถ่านเพลิงนั้น. ภิกษุ ท. ! ครั้งนั้นแล บุรุษนั้นมีความคิด ความปรารถนา ความตั้งใจ ที่จะให้ห่างไกลหลุมถ่านเพลิงนั้น. ข้อนั้นเพราะเหตุไรเล่า ? ภิกษุ ท. ! ข้อนั้นเพราะเหตุว่าบุรุษนั้นย่อมรู้ว่า “ถ้าเราจะตกลงไปยังหลุมถ่านเพลิงนี้ไซร้ เราก็พึงถึงความตาย หรือได้รับทุกข์เจียนตาย เพราะข้อนั้นเป็นเหตุ” ดังนี้, ข้อนี้มีอุปมาฉันใด ; ภิกษุ ท. ! เราย่อมกล่าวว่า มโนสัญเจตนาหารอันอริยสาวกควรเห็น (ว่ามีอุปมาเหมือนหลุมถ่านเพลิง) ฉันนั้น. ภิกษุ ท. ! เมื่อมโนสัญเจตนาหารอันอริยสาวกกำหนดรู้ได้แล้ว, ตัณหาทั้ง 3 ย่อมเป็นสิ่งที่อริยสาวกนั้นกำหนดรู้ได้แล้วด้วย ; เมื่อตัณหาทั้งสาม เป็นสิ่งที่อริยสาวกกำหนดรู้ได้แล้ว, เราย่อมกล่าวว่า “สิ่งไร ๆ ที่ควรกระทำให้ยิ่งขึ้นไป (กว่านี้) ย่อมไม่มีแก่อริยสาวกนั้น” ดังนี้.

ภิกษุ ท. ! วิญญาณาหาร เป็นสิ่งที่บุคคลควรเห็นอย่างไร ? ภิกษุ ท. ! เปรียบเหมือนพวกเจ้าหน้าที่จับโจรผู้ประพฤติหยาบช้าได้แล้ว แสดงแก่พระราชาว่า “ข้าแต่สมมติเทพ ! บุรุษนี้เป็นโจรประพฤติหยาบช้าต่อใต้ฝ่าพระบาท ขอใต้ฝ่าพระบาทจงโปรดให้ลงโทษโจรผู้นี้ตามประสงค์เถิด พระเจ้าข้า !”. พระราชามีพระกระแสรับสั่งอย่างนี้ว่า “ท่านผู้เจริญทั้งหลาย ! ท่านทั้งหลายจงไปประหารบุรุษนั้น ด้วยหอกร้อยเล่มในเวลาเช้านี้”. เจ้าหน้าที่เหล่านั้นจึงประหารนักโทษนั้นด้วยหอกร้อยเล่ม ในเวลาเช้า. ต่อมา ในเวลาเที่ยงวัน พระราชาทรงซักถามพวกเจ้าหน้าที่นั้นว่า “ท่านผู้เจริญทั้งหลาย ! บุรุษนั้น เป็นอย่างไรบ้าง ?”. พวกเขากราบทูลว่า “ข้าแต่สมมติเทพ ! นักโทษนั้นยังมีชีวิตอยู่ พระเจ้าข้า !”. พระราชาทรงมีพระกระแสรับสั่งอย่างนี้ว่า “ท่านผู้เจริญทั้งหลาย ! ท่านทั้งหลายจงไปประหารบุรุษนั้น ด้วยหอกร้อยเล่ม ในเวลาเที่ยง”. พวกเจ้าหน้าที่เหล่านั้น จึงได้ประหารนักโทษนั้นด้วยหอกร้อยเล่ม ในเวลาเที่ยง. ต่อมา ในเวลาเย็น พระราชาทรงซักถามพวกเจ้าหน้าที่เหล่านั้นอีกว่า “ท่านผู้เจริญทั้งหลาย ! บุรุษนั้น เป็นอย่างไรบ้าง ?”. พวกเขากราบทูลว่า “ยังมีชีวิตอยู่ พระเจ้าข้า !”. พระราชาทรงมีพระกระแสรับสั่งอีกว่า “ท่านผู้เจริญทั้งหลาย ! พวกท่านจงไปประหารบุรุษนั้น ด้วยหอกร้อยเล่ม ในเวลาเย็น” ดังนี้. พวกเจ้าหน้าที่นั้น จึงได้ประหารนักโทษนั้นด้วยหอกร้อยเล่ม ในเวลาเย็น.

ภิกษุ ท. ! พวกเธอจะสำคัญความข้อนี้ว่าอย่างไร : บุรุษนักโทษนั้นถูกพวกเจ้าหน้าที่ประหารอยู่ด้วยหอก 300 เล่ม ตลอดทั้งวัน เขาจะพึงเสวยแต่ทุกขโทมนัสที่มีข้อนั้นเป็นเหตุ มิใช่หรือ ? ภิกษุ ท. ! บุรุษนักโทษนั้น ถูกพวกเจ้าหน้าที่ประหารด้วยหอกเพียงเล่มเดียว ก็พึงเสวยทุกขโทมนัสที่มีข้อนั้นเป็นเหตุ (มากอยู่แล้ว) ก็จะกล่าวไปไยถึงการที่บุรุษนักโทษนั้นถูกประหารด้วยหอก 300 เล่มเล่า, ข้อนี้มีอุปมาฉันใด ; ภิกษุ ท. ! เราย่อมกล่าวว่า วิญญาณาหารอันอริยสาวกควรเห็น (ว่ามีอุปมาเหมือนนักโทษถูกประหารนั้น) ฉันนั้น. ภิกษุ ท. ! เมื่อวิญญาณาหารอันอริยสาวกกำหนดรู้ได้แล้ว, นามรูป ย่อมเป็นสิ่งที่อริยสาวกนั้นกำหนดรู้ได้แล้วด้วย ; เมื่อนามรูป เป็นสิ่งที่อริยสาวกกำหนดรู้ได้แล้ว, เราย่อมกล่าวว่า “สิ่งไร ๆ ที่ควรกระทำให้ยิ่งขึ้นไป (กว่านี้) ย่อมไม่มีแก่อริยสาวกนั้น”, ดังนี้แล.

- นิทาน. สํ. ๑๖/๑๑๙ - ๑๒๑/๒๔๑ - ๒๔๔.

( คำข้าว เรียกว่าอาหาร เพราะหล่อเลี้ยงร่างกาย ; ผัสสะ เรียกว่าอาหาร เพราะทำให้เกิดเวทนา ; มโนสัญเจตนา เรียกว่าอาหาร เพราะทำให้เกิดกรรม ; วิญญาณ เรียกว่าอาหาร เพราะทำให้เกิดนามรูป. ถ้าบุคคลพิจารณาเห็นโทษแห่งอาหารแต่ละอย่าง ๆ ดังที่ตรัสไว้โดยอุปมาในข้อความข้างบนนี้แล้ว ก็จะสามารถควบคุมสิ่งที่เรียกว่าอาหาร ไม่ให้เป็นอาหารโดยความหมายนั้น ๆ ได้, จะดับทุกข์ได้จนถึงขั้นเป็นพระอรหันต์ ).


เกี่ยวกับธรรมโฆษณ์ออนไลน์ (Disclaimer)
แม้ระบบ "ธรรมโฆษณ์ออนไลน์" พยายามปรับปรุงข้อมูลให้ถูกต้องมากที่สุด ผู้ศึกษาก็พึงตรวจสอบกับตัวเล่มหนังสือต้นฉบับ ที่มีการพิมพ์ครั้งล่าสุด ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง"

หนังสือที่เกี่ยวข้อง