จิตที่ตัณหา เรียกว่าอยู่สองคน

"ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ! ด้วยเหตุเพียงเท่าไรหนอ ภิกษุจึงชื่อว่า เป็นผู้มีการอยู่อย่างมีเพื่อนสอง พระเจ้าข้า?"

มิคชาละ! รูปทั้งหลายอันจะพึงเห็นได้ด้วยจักษุ อันเป็นรูปที่น่าปรารถนา น่ารักใคร่น่าพอใจ มีลักษณะน่ารัก เป็นที่เข้าไปตั้งอาศัยอยู่แห่งความใคร่ เป็นที่ตั้งแห่งความ กำหนัดย้อมใจ มีอยู่. ถ้าหากว่าภิกษุย่อมเพลิดเพลิน พร่ำสรรเสริญ สยบมัวเมา ซึ่งรูปนั้นไซร้;

แก่ภิกษุผู้เพลิดเพลินพร่ำ สรรเสริญ สยบมัวเมา ซึ่งรูปนั้นอยู่นั่นแหละ, นันทิ (ความเพลิดเพลิน) ย่อมเกิดขึ้น.

เมื่อนันทิ มีอยู่, สาราคะ (ความกำหนัดเกล้า) ย่อมมี;

เมื่อสาราคะ มีอยู่, สัญโญคะ (ความผูกจิตติดกับอารมณ์) ย่อมมี :

มิคชาละ! ภิกษุผู้ประกอบพร้อมแล้ว ด้วยการผูกจิตติดกับอารมณ์ ด้วยอำนาจแห่งความเพลิน นั่นแล เราเรียกว่า "ผู้มีการอยู่อย่างมีเพื่อนสอง".

(ในกรณีแห่งเสียงทั้งหลายอันจะพึงได้ยินดีด้วยหูก็ดี, กลิ่นทั้งหลายอันจะพึงดมด้วยจมูกก็ดี, รสทั้งหลายอันจะพึงลิ้มด้วยลิ้นก็ดี, โผฏฐัพพะทั้งหลายอันจะพึงสัมผัสด้วยผิวกายก็ดี, และธรรมารมณ์ทั้งหลายอันจะพึงรู้แจ้งด้วยใจก็ดี, พระผู้มีพระภาคเจ้าได้ตรัสไว้ มีนัยะอย่างเดียวกันกับในกรณีแห่งรูปทั้งหลายอันจะพึงเห็นด้วยจักษุ).

มิคชาละ! ภิกษุผู้มีการอยู่ด้วยอาการอย่างนี้ แม้จะส้องเสพเสนาสนะอันเป็นป่าและป่าชัฏ ซึ่งเงียบสงัด มีเสียงรบกวนน้อย มีเสียงกึกก้องครึกโครมน้อย ปราศจากลมจากผิวกายคน เป็นที่ทำ การลับของมนุษย์ เป็นที่สมควรแก่การหลีกเร้น เช่นนี้แล้วก็ตาม, ถึงกระนั้น ภิกษุนั้นเราก็ยังคงเรียกว่า ผู้มีการอยู่อย่างมีเพื่อนสองอยู่นั่นเอง. ข้อนั้นเพราะเหตุไรเล่า? ข้อนั้นเพราะเหตุว่า ตัณหานั่นแล เป็นเพื่อนสองของภิกษุนั้น; ตัณหานั้น อันภิกษุนั้นยังละไม่ได้แล้ว เพราะเหตุนั้น ภิกษุนั้นเราจึงเรียกว่า ผู้มีการอยู่อย่างมีเพื่อนสอง ดังนี้.

- สฬา. สํ. 18/43/66.


เกี่ยวกับธรรมโฆษณ์ออนไลน์ (Disclaimer)
แม้ระบบ "ธรรมโฆษณ์ออนไลน์" พยายามปรับปรุงข้อมูลให้ถูกต้องมากที่สุด ผู้ศึกษาก็พึงตรวจสอบกับตัวเล่มหนังสือต้นฉบับ ที่มีการพิมพ์ครั้งล่าสุด ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง"

หนังสือที่เกี่ยวข้อง