ข้อที่ 3

ภิกษุ ท. ! ข้ออื่นยังมีอีก : อริยสาวกไปแล้วสู่ป่าก็ตาม สู่โคนไม้ก็ตาม สู่เรือนว่างก็ตาม ย่อมพิจารณาเห็นโดยประจักษ์ ว่า “ไม่มีอะไรที่เป็นตัวเรา, ความกังวลต่อสิ่งใด หรือในอะไร ๆ ว่าเป็นตัวเราก็ไม่มี ; และไม่มีอะไรที่เป็นของเรา, ความกังวลในสิ่งใด ๆ ว่าเป็นของเราก็ไม่มี” ดังนี้.

เมื่ออริยสาวกนั้น ปฏิบัติแล้วอย่างนี้ เป็นผู้มากด้วยการปฏิบัติอย่างนี้อยู่, จิตย่อมเลื่อมใสในอายตนะ. เมื่อมีจิตเลื่อมใสสมบูรณ์ เขาก็จะเข้าถึงอากิญจัญญายตนะ (สมาบัติ) ในกาลนั้น หรือน้อมไปเพื่อปัญญา. ภายหลังแต่การตายเพราะการทำลายแห่งกาย ฐานะที่พึงมีได้ก็คือ วิญญาณที่เป็นไป ก็จะเป็นวิญญาณที่เข้าถึงอากิญจัญญายตนะ.

ภิกษุ ท. ! นี้เรากล่าวว่า เป็น อากิญจัญญายตนสัปปายปฏิปทาข้อที่ 3.

- อุปริ. ม. ๑๔/๗๖ - ๗๗/๘๕ - ๘๗.

[คำว่า อากิญจัญญายตนะ คำนี้ เป็นคำแปลกและกำกวม เคยใช้ให้มีความหมายเป็นนิพพาน มาแต่ก่อนพุทธศาสนา หรือนอกพุทธศาสนา เช่นในสำนักของพาวรีพราหมณ์ (ที่เป็นต้นเหตุให้เกิดโสฬสปัญหา) นั้นเขาถือว่าเป็นนิพพาน จึงมาทูลขอให้พระองค์ทรงแสดงอากิญจัญญายตนะ ตามแบบของพระองค์ ในฐานะที่เป็นนิพพาน ดังนั้นในสูตรนี้ จึงมีบทพิจารณาทำนองเดียวกับนิพพาน เช่นคำว่า นั่นว่างจากอัตตาว่างจากอัตตนิยา หรือว่านั่นสงบนั่นประณีต ดังนี้เป็นต้น ผู้ศึกษาจะต้องมีความเข้าใจอย่างแจ่มแจ้ง อย่าให้ปะปนกันเสีย จะมีความเข้าใจผิดอย่างใหญ่หลวง].


เกี่ยวกับธรรมโฆษณ์ออนไลน์ (Disclaimer)
แม้ระบบ "ธรรมโฆษณ์ออนไลน์" พยายามปรับปรุงข้อมูลให้ถูกต้องมากที่สุด ผู้ศึกษาก็พึงตรวจสอบกับตัวเล่มหนังสือต้นฉบับ ที่มีการพิมพ์ครั้งล่าสุด ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง"

หนังสือที่เกี่ยวข้อง