ไปยังหน้า : |
ภิกษุ ท. ! การงานใด ๆ ที่ต้องกระทำด้วยกำลัง, การงานเหล่านั้นทั้งหมดที่ต้องกระทำด้วยกำลัง กระทำได้เมื่ออาศัยซึ่งแผ่นดิน ยืนอยู่บนแผ่นดิน, ข้อนี้ฉันใด ; ภิกษุ ท. ! ภิกษุอาศัยศีล ตั้งอยู่ในศีล ย่อมเจริญ กระทำให้มากได้ ซึ่งอริยอัฏฐังคิกมรรค, ฉันนั้นเหมือนกัน.
ภิกษุ ท. ! อย่างไรเล่า เรียกว่า ภิกษุอาศัยศีล ตั้งอยู่ในศีล ย่อมเจริญ กระทำให้มากได้ ซึ่งอริยอัฏฐังคิกมรรค ?
ภิกษุ ท. ! ภิกษุในกรณีนี้ ย่อมเจริญสัมมาทิฏฐิ อันอาศัยวิเวก อาศัยวิราคะ อาศัยนิโรธ น้อมไปเพื่อการสลัดคืน (ซึ่งอุปาทานขันธ์) ; เจริญสัมมาสังกัปปะ …. เจริญสัมมาวาจา …. เจริญสัมมากัมมันตะ …. เจริญสัมมาอาชีวะ …. เจริญสัมมาวายามะ …. เจริญสัมมาสติ …. เจริญสัมมาสมาธิ อันอาศัยวิเวก อาศัยวิราคะ อาศัยนิโรธ น้อมไปเพื่อการสลัดคืน (ซึ่งอุปาทานขันธ์).
ภิกษุ ท. ! อย่างนี้แล เรียกว่า ภิกษุอาศัยศีล ตั้งอยู่ในศีล ย่อมเจริญ กระทำให้มากได้ ซึ่งอริยอัฏฐังคิกมรรค.
- มหาวาร. สํ. 19/68/264 - 265.
[ ศีลอันเป็นที่ตั้งพื้นฐานในที่นี้ มิได้หมายถึงศีลที่มีรวมอยู่แล้วในอัฏฐังคิกมรรค, หากแต่เป็นศีลพื้นฐาน เช่นศีล 5 อุโบสถศีล อันยังมิได้ปรารภวิเวก - วิราค - นิโรธ - โวสสัคคะ.
ลักษณะแห่งการเจริญอริยมรรคนั้น กล่าวไว้หลายวิธี : ในที่อื่น กล่าวว่า เจริญองค์แห่งมรรคแต่ละองค์ ๆ อย่างที่ มีการนำออกซึ่งราคะเป็นที่สุดรอบ (ราควินยปริโยสาน) มีการนำออกซึ่งโทสะเป็นที่สุดรอบ (โทสวินยปริโยสาน) มีการนำออกซึ่งโมหะเป็นที่สุดรอบ (โมหวินยปริโยสาน) (19/68-69/266-267) ; ในที่อื่นว่า เจริญองค์แห่งอริยมรรค อย่างที่มีอมตะเป็นที่หยั่งลง (อมโตคธ) มีอมตะเป็นที่ไปในเบื้องหน้า (อมตปรายน) มีอมตะเป็นที่สุดรอบ (อมตปริโยสาน) (19/69/268-269); ในที่อื่นแสดงลักษณะแห่งองค์อริยมรรคว่า เอียงไปสู่นิพพาน (นิพฺพานนินฺน) น้อมไปสู่นิพพาน (นิพฺพานโปณ) ลาดลุ่มไปสู่นิพพาน (นิพฺพานปพฺภาร) (19/69-70/270-271) ; ต่างกันอยู่เป็นสี่รูปแบบดังนี้ ล้วนแต่เป็นที่น่าสนใจนำไปพิจารณา.
กิริยาที่ผู้ปฏิบัติต้องอาศัยศีลเป็นที่ตั้ง มีอุปมาเหมือนการทำงานต้องอาศัยเหยียบแผ่นดินเป็นที่ตั้ง นั้น ยังอุปมาแปลกออกไป เหมือนการที่พฤกษชาติทั้งหลายต้องอาศัยแผ่นดินเป็นที่งอกงาม ก็มี (19/70/272-273) และ เหมือนพวกนาคอาศัยซอกเขาหิมพานต์เป็นที่เกิดเป็นที่เจริญ ก็มี (19/71/274-2751) ; ล้วนแต่มีความหมายอย่างเดียวกัน ว่าต้องมีที่ตั้งที่อาศัย ].