ทรงกำชับเรื่องการทำลายอหังการมมังการ

สารีบุตร ! เราจะแสดงธรรมโดยย่อก็ได้ เราจะแสดงธรรมโดยพิสดารก็ได้ เราจะแสดงธรรมทั้งโดยย่อและโดยพิสดาร ก็ได้ แต่ว่าผู้รู้ทั่วถึงธรรมหายาก.

“ข้าแต่พระผู้มีพระภาค ! ถึงเวลาแล้ว ข้าแต่พระสุคต ! ถึงเวลาแล้ว ที่พระผู้มีพระภาค จะพึงแสดงธรรมโดยย่อบ้าง จะพึงแสดงธรรมโดยพิสดารบ้าง จะพึงแสดงธรรมทั้งโดยย่อและโดยพิสดารบ้าง ผู้รู้ทั่วถึงธรรมจักมี”.

สารีบุตร ! ถ้าอย่างนั้น ในเรื่องนี้ เธอพึงทำาการศึกษาอย่างนี้ว่า “(ธรรมที่เราแสดงนั้น จะมีดังนี้ว่า :-) อหังการมมังการมานานุสัยทั้งหลาย ต้องไม่มีในกายอันประกอบอยู่ด้วยวิญญาณนี้ (นี้อย่างหนึ่ง) ; อหังการมมังการมานานุสัยทั้งหลาย ต้องไม่มีในนิมิตทั้งหลายทั้งปวงในภายนอก (นี้อย่างหนึ่ง) ; เราจักเข้าถึงแล้วแลอยู่ ซึ่งเจโตวิมุตติปัญญาวิมุตติอันเข้าถึงแล้วแลอยู่ แล้ว อหังการมมังการมานานุสัยทั้งหลาย ย่อมไม่มี ดังนี้ (นี้อีกอย่างหนึ่ง).”

สารีบุตร ! เมื่อใด อหังการมมังการนามานุสัยของภิกษุ ไม่มีในกายอันประกอบด้วยวิญญาณนี้ ก็ดี, อหังการมมังการนามานุสัยของภิกษุ ไม่มีในนิมิตทั้งหลายทั้งปวงในภายนอก ก็ดี, ภิกษุเข้าถึงแล้วแลอยู่ ซึ่งเจโตวิมุตติปัญญาวิมุตติอันเข้าถึงแล้วแลอยู่ แล้ว อหังการมมังการมานานุสัย ย่อมไม่มี ก็ดี ; สารีบุตร ! เมื่อนั้น ภิกษุนี้ เรากล่าวว่า ได้ตัดขาดแล้วซึ่งตัณหา รื้อถอนแล้วซึ่งสังโยชน์ กระทำที่สุดแห่งทุกข์ได้เพราะรู้ซึ่งมานะโดยชอบ.

- ติก. อํ. 20/170/472.

( ตรัสว่า ทรงแสดงธรรมโดย 3 ลักษณะ คือย่อ พิสดาร ทั้งย่อและพิสดาร แล้วก็ทรงแสดงลักษณะแห่งการปฏิบัติไว้ 3 ลักษณะ คือทำให้ไม่มีอหังการมมังการ ในกายนี้ ; ไม่มีอหังการมมังการ ในนิมิตภายนอกทั้งปวง ; และการเข้าอยู่ในเจโตวิมุตติปัญญาวิมุตติที่ไม่มีอหังการมมังการ. นี่พอจะเห็นได้ว่า โดยย่อก็คือ ไม่ให้มีอหังการมมังการในกายนี้, โดยพิสดารก็คือ ไม่ให้มีอหังการมมังการในนิมิตภายนอกทั่วไป, ที่ทั้งโดยย่อและพิสดารก็คือ เข้าอยู่ในวิมุตติที่ไม่มีอหังการมมังการ. รวมความว่า จะโดยย่อหรือโดยพิสดารหรือทั้งโดยย่อและพิสดาร ก็มุ่งไปสู่ความไม่มีแห่งอหังการมมังการด้วยกันทั้งนั้น. นี่พอที่จะถือเป็นหลักได้ว่า ข้อปฏิบัติอย่างไรและเท่าไร ระดับไหน ก็ล้วนแต่มุ่งหมายทำลายอหังการมมังการมานานุสัย (ความสำคัญว่าตัวกู - ของกู) ด้วยกันทั้งนั้น. ในที่นี้ถือว่า อัฏฐังคิกมรรค จะในระดับไหนก็ตาม ล้วนแต่มุ่งหมายทำลายเสียซึ่งอหังการมมังการ เป็นหลักสำคัญ จึงนำข้อความนี้มาใส่ไว้ในหมวดนี้).


เกี่ยวกับธรรมโฆษณ์ออนไลน์ (Disclaimer)
แม้ระบบ "ธรรมโฆษณ์ออนไลน์" พยายามปรับปรุงข้อมูลให้ถูกต้องมากที่สุด ผู้ศึกษาก็พึงตรวจสอบกับตัวเล่มหนังสือต้นฉบับ ที่มีการพิมพ์ครั้งล่าสุด ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง"

หนังสือที่เกี่ยวข้อง