ไปยังหน้า : |
“ท่านอานนท์ผู้เจริญ ! อริยปัญญาขันธ์ นั้น เป็นอย่างไรเล่า ที่พระสมณโคดมทรงสรรเสริญ และทรงชักชวนมหาชนนี้ให้สมาทาน ให้เข้าไปอยู่ ให้ตั้งไว้เฉพาะ ?”
ภิกษุนั้น ครั้นจิตตั้งมั่น บริสุทธิ์ผ่องใส ไม่มีกิเลส ปราศจากอุปกิเลส เป็นธรรมชาติอ่อนโยน ควรแก่การงาน ตั้งอยู่อย่างไม่หวั่นไหวเช่นนี้แล้ว เธอชักนำจิตไปเพื่อญาณทัสสนะ. เธอย่อมรู้ชัดอย่างนี้ว่า กายของเรานี้ มีรูป ประกอบอยู่ด้วยมหาภูตทั้งสี่ มีมารดาบิดาเป็นแดนเกิด เจริญขึ้นด้วยข้าวสุกและขนมสด ต้องห่อหุ้มนวดฟั้นอยู่เนืองนิจแต่ก็ยังมีการแตกทำลายสึกกร่อนเป็นธรรมดา, แต่วิญญาณของเรานี้ อาศัยอยู่ในกายนั้น เนื่องอยู่ในกายนั้น ; (เธอรู้เห็นอย่างชัดเจน) เปรียบเหมือนมณีไพฑูรย์อันสวยงาม สมชาติแก้ว แปดเหลี่ยม เจียระไนดีแล้ว สดใส ผ่องใส ถึงพร้อมด้วยคุณค่าทั้งปวง, ในแก้วนั้นมีด้ายร้อยอยู่ สีเขียวบ้าง สีเหลืองบ้าง สีแดงบ้าง สีขาวบ้าง สีส้มบ้าง, บุรุษผู้มีตาดี วางแก้วนั้นลงในมือแล้ว ก็จะเห็นโดยประจักษ์ว่า มณีไพฑูรย์นี้ เป็นของสวยงาม สมชาติแก้ว แปดเหลี่ยม เจียระไนดีแล้ว สดใส ผ่องใส ถึงพร้อมด้วยคุณค่าทั้งปวง. ในแก้วนั้นมีด้ายร้อยอยู่ สีเขียวบ้าง สีเหลืองบ้าง สีแดงบ้าง สีขาวบ้าง สีส้มบ้าง, ฉันนั้นเหมือนกัน. แม้นี้ ก็เป็นปัญญาของเธอประการหนึ่ง. …. ฯลฯ …. (ข้อความตอนต่อจากนี้ไป ดูได้ที่ภาคผนวกแห่งหนังสือเล่มนี้ ที่หน้า 1559 ตั้งแต่คำว่า ภิกษุนั้น ครั้นจิตตั้งมั่น บริสุทธิ์ผ่องใส ไม่มีกิเลส ปราศจากอุปกิเลส เป็นธรรมชาติอ่อนโยน ควรแก่การงาน ตั้งอยู่อย่างไม่หวั่นไหวเช่นนี้แล้ว เธอชักนำจิตไปเพื่อการนิรมิตกายอันสำเร็จด้วยใจ. เธอถอดกายอื่นออกจากกายนี้ …. ไปจนถึงคำว่า …. (จบอริยปัญญาขันธ์)., ที่หน้า 1564).
- สี. ที. 9/252 - 272/318 - 337.