การเลือกที่อยู่ในป่า (วนปัตถ์)

ภิกษุ ท. ! ภิกษุในกรณีนี้ เข้าไปอาศัย วนปัตถ์ (ป่าทึบ) แห่งใดแห่งหนึ่งอยู่, สติที่ยังตั้งขึ้นไม่ได้ ก็ไม่ตั้งขึ้นได้, จิตที่ยังไม่ตั้งมั่นก็ไม่ตั้งมั่น, อาสวะที่ยังไม่สิ้นก็ไม่ถึงความสิ้น, และอนุตตรโยคักเขมธรรมที่ยังไม่บรรลุก็ไม่บรรลุ, ทั้งจีวร บิณฑบาต เสนาสนะ คิลานปัจจัยเภสัชชบริขาร อันบรรพชิตพึงแสวงหามาเพื่อเป็นบริขารของชีวิต ก็หามาได้โดยยาก. ภิกษุ ท. ! ภิกษุนั้น พิจารณาเห็นโดยประจักษ์ดังนี้แล้ว ไม่ว่าจะเป็นเวลากลางวันหรือกลางคืน พึงหลีกไปเสียจากวนปัตถ์นั้น, อย่าอยู่เลย.

ภิกษุ ท. ! อนึ่ง ภิกษุในกรณีนี้ เข้าไปอาศัย วนปัตถ์ แห่งใดแห่งหนึ่งอยู่, สติที่ยังตั้งขึ้นไม่ได้ ก็ไม่ตั้งขึ้นได้, จิตที่ยังไม่ตั้งมั่นก็ไม่ตั้งมั่น, อาสวะที่ยังไม่สิ้นก็ไม่ถึงความสิ้น, และอนุตตรโยคักเขมธรรมที่ยังไม่บรรลุก็ไม่บรรลุ ; แต่ว่าจีวร บิณฑบาต เสนาสนะ คิลานปัจจัยเภสัชชบริขาร อันบรรพชิตพึงแสวงหามาเพื่อเป็นบริขารของชีวิต ก็หามาได้โดยไม่ยาก. ภิกษุ ท. ! ภิกษุนั้น พิจารณาเห็นโดยประจักษ์ดังนี้แล้ว คิดว่า “เราเป็นผู้ออกจากเรือนบวช เพราะเหตุแห่งจีวรก็หามิได้ เพราะเหตุแห่งบิณฑบาตก็หามิได้ เพราะเหตุแห่งเสนาสนะก็หามิได้ เพราะเหตุแห่งคิลานปัจจัยเภสัชชบริขารก็หามิได้” ; ครั้นพิจารณาเห็นดังนี้แล้ว ภิกษุนั้น พึงหลีกไปเสียจากวนปัตถ์นั้น, อย่าอยู่เลย.

ภิกษุ ท. ! ภิกษุในกรณีนี้ เข้าไปอาศัย วนปัตถ์ แห่งใดแห่งหนึ่งอยู่, สติที่ยังตั้งขึ้นไม่ได้ก็ตั้งขึ้นได้, จิตที่ยังไม่ตั้งมั่นก็ตั้งมั่น, อาสวะที่ยังไม่สิ้นก็ถึงความสิ้น, และอนุตตรโยคักเขมธรรมที่ยังไม่บรรลุก็บรรลุ ; แต่ จีวร บิณฑบาต เสนาสนะ คิลานปัจจัยเภสัชชบริขาร อันบรรพชิตพึงแสวงหามาเพื่อเป็นบริขารของชีวิต ก็หามาได้โดยยาก. ภิกษุ ท. ! ภิกษุนั้น พิจารณาเห็นโดยประจักษ์ดังนี้แล้ว คิดว่า “เรามิได้ออกจากเรือนบวช เพราะเหตุแห่งจีวร เพราะเหตุแห่งบิณฑบาต เพราะเหตุแห่งเสนาสนะ เพราะเหตุแห่งคิลานปัจจัยเภสัชชบริขาร” ; ครั้นพิจารณาเห็นดังนี้แล้ว ภิกษุนั้น พึงอยู่ในวนปัตถ์นั้น. อย่าหลีกไปเสียเลย.

ภิกษุ ท. ! อนึ่ง ภิกษุในกรณีนี้ เข้าไปอาศัย วนปัตถ์ แห่งใดแห่งหนึ่งอยู่, สติที่ยังตั้งขึ้นไม่ได้ก็ตั้งขึ้นได้, จิตที่ยังไม่ตั้งมั่นก็ตั้งมั่น, อาสวะที่ยังไม่สิ้นก็ถึงความสิ้น, และอนุตตรโยคักเขมธรรมที่ยังไม่บรรลุก็บรรลุ ; ทั้งจีวร บิณฑบาต เสนาสนะ คิลานปัจจัยเภสัชชบริขาร อันบรรพชิตพึงแสวงหามาเพื่อเป็นบริขารของชีวิต ก็หามาได้โดยไม่ยาก. ภิกษุ ท. ! ภิกษุนั้น พิจารณาเห็นโดยประจักษ์ดังนี้แล้ว พึงอยู่ในวนปัตถ์นั้น จนตลอดชีวิต, อย่าหลีกไปเสียเลย.

(ในกรณีแห่ง การเลือกหมู่บ้าน นิคม นคร ชนบท และบุคคล ที่ควรเสพหรือไม่ควรเสพ ก็ได้ตรัสไว้โดยหลักเกณฑ์อย่างเดียวกัน.)

- มู. ม. 12/212 -218/235 - 242.

(ในสูตรอื่น ถือเอา การเกิดแห่งกุศลและการไม่เกิดแห่งอกุศล เป็นหลักเกณฑ์สำหรับการเลือก ว่าควรเสพหรือไม่ควรเสพ : ถ้าได้ผลเป็นกุศลถือว่าควรเสพ, ถ้าได้ผลเป็นอกุศลถือว่าไม่ควรเสพ. และถือเอาหลักเกณฑ์นี้สำหรับการเลือกสิ่งเหล่านี้คือ กายสมาจาร วจีสมาจาร มโนสมาจาร จิตตุปบาท สัญญาปฏิลาภ ทิฏฐิปฏิลาภ อัตตภาวปฏิลาภ อารมณ์แต่ละอารมณ์ทางอายตนะทั้งหก จีวร บิณฑบาต เสนาสนะ คาม นิคม นคร ชนบท และ บุคคล. ผู้ปรารถนารายละเอียดพึงดูจากที่มานั้น ๆ : อุปริ. ม. 14/144 - 164/199 - 232 ; หรือดูที่หัวข้อว่า “การเสพที่เป็นอุปกรณ์และไม่เป็นอุปกรณ์ แก่ความเพียรละอกุศลและเจริญกุศล” ที่หน้า 1143 แห่งหนังสือนี้).


เกี่ยวกับธรรมโฆษณ์ออนไลน์ (Disclaimer)
แม้ระบบ "ธรรมโฆษณ์ออนไลน์" พยายามปรับปรุงข้อมูลให้ถูกต้องมากที่สุด ผู้ศึกษาก็พึงตรวจสอบกับตัวเล่มหนังสือต้นฉบับ ที่มีการพิมพ์ครั้งล่าสุด ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง"

หนังสือที่เกี่ยวข้อง