ปรินิพพานเฉพาะตน ผลแห่งการถอนความมั่นหมายในธรรมทั้งปวงโดยความหมาย 4 สถาน

ภิกษุ ท.! เราจักแสดง "ปฏิปทาอันสมควรแก่การเพิกถอนความมั่นหมายทั้งปวง" แก่พวกเธอ. พวกเธอจงฟัง จงทำในใจให้ดี เราจักกล่าว. ปฏิปทาอันสมควรแก่การเพิกถอนความมั่นหมายทั้งปวง เป็นอย่างไรเล่า? ภิกษุ ท.! ภิกษุในกรณีนี้ :-

ไม่มั่นหมาย ซึ่ง จักษุ ไม่มั่นหมาย ในจักษุ ไม่มั่นหมาย โดย ความเป็นจักษุ ไม่มั่นหมายจักษุ ว่าของเรา;

ไม่มั่นหมาย ซึ่งรูป ท. ไม่มั่นหมาย ใน รูป ท.! ไม่มั่นหมาย โดยความเป็นรูป ท. ไม่มั่นหมายรูป ท. ว่าของเรา;

ไม่มั่นหมาย ซึ่งจักขุวิญญาณ ไม่มั่นหมายในจักขุวิญญาณ ไม่มั่นหมาย โดย ความเป็นจักขุวิญญาณไม่มั่นหมายจักขุวิญญาณ ว่าของเรา;

ไม่มั่นหมาย ซึ่งจักขุสัมผัส ไม่มั่นหมาย ใน จักขุสัมผัส ไม่มั่นหมาย โดย ความเป็นจักขุสัมผัสไม่มั่นหมายจักขุสัมผัส ว่าของเรา;

ไม่มั่นหมาย ซึ่งเวทนา ไม่มั่นหมายใน เวทนา ไม่มั่นหมาย โดย ความเป็นเวทนาไม่มั่นหมายเวทนา ว่าของเรา ซึ่งเป็นเวทนาอันเกิดจากจักขุสัมผัสเป็นปัจจัย อันเป็นสุขก็ตาม เป็นทุกข์ก็ตาม อันเป็นอทุกขมสุขก็ตาม.

(ในกรณีแห่งหมวด โสตะ มานะ ชิวหา กายะ และ มนะ ก็ได้ตรัสไว้ด้วยข้อความทำนองเดียวกันกับข้อความในกรณีแห่งหมวดจักษุข้างบนนี้ ทุกตัวอักษร ต่างกันแต่ชื่อเท่านั้น).

ไม่มั่นหมายซึ่งสิ่งทั้งปวง ไม่มั่นหมายในสิ่งทั้งปวง ไม่มั่นหมายโดยความเป็นสิ่งทั้งปวง ไม่มั่นหมายสิ่งทั้งปวง ว่าของเรา.

ภิกษุ นั้น เมื่อไม่มั่นหมายอยู่อย่างนี้ ก็ไม่ถือสิ่งใด ๆ ในโลก, เมื่อไม่ถือมั่นก็ไม่สะดุ้ง, เมื่อไม่สะดุ้งก็ปรินิพานเฉพาะตน (ปจฺจตฺตํ ปรินิพฺพายติ) นั่นเทียว. เธอนั้น ย่อม รู้ชัดว่า "ชาติสิ้นแล้ว พรหมจรรย์อยู่จบแล้ว กิจที่ควรทำได้สำเร็จแล้ว กิจอื่นที่จะต้องทำเพื่อความเป็นอย่างนี้มิได้มีอีก" ดังนี้.

ภิกษุ ท.! นี้แล คือ "ปฏิปทาอันสมควรแก่การเพิกถอนความมั่นหมายทั้งปวงนั้น".

- สฬา. สํ. 18/26/33.

(ในสูตรถัดไป เมื่อได้ตรัสข้อความอย่างเดียวกันกับในสูตรข้างบนนี้ครบทั้ง 6 อายตนะแล้ว ซึ่งในตอนท้ายแห่งอายตะหมวดหนึ่ง ๆ นั้น ได้ตรัสข้อความเพิ่มเติมต่อไปอีกดังข้อความข้างล่างนี้และได้ทรงเรียกชื่อปฏิปทานี้เสียใหม่ว่า "ปฏิปทาเป็นเครื่องสะดวกแก่การเพิกถอนเสียซึ่งความมั่นหมายทั้งปวง" :-)

ภิกษุ ท.! ก็ภิกษุย่อมมั่นหมาย ซึ่ง สิ่งใด มั่นหมาย ใน สิ่งใด มั่นหมาย โดย ความเป็นสิ่งใดมั่นหมายสิ่งใด ว่าของเรา, สิ่งที่เขามั่นหมายนั้น ย่อมเป็นโดยประการอื่นจากที่เขามั่นหมายนั้น. สัตว์โลกผู้ข้องอยู่ในภพ เพลิดเพลินอยู่ในภพนั่นแหละ จักเป็นผู้มีความเป็นโดยประการอื่น. (ข้อความต่อไปนี้ ได้ตรัสหลังจากตรัสข้อความในหมวดที่หก คือหมวดมนายตนะจบแล้ว :-)

ภิกษุ ท.! ขันธ์ ธาตุ อายตนะ มีอยู่มีประมาณเท่าใด; ภิกษุย่อม ไม่มั่นหมายแม้ซึ่งขันธ์ ธาตุ อายตนะ นั้น ไม่มั่นหมายแม้ ใน ขันธ์ธาตุ อายตนะ นั้น ไม่มั่นหมายแม้ โดย ความเป็นขันธ์ธาตุอายตนะนั้น ไม่มั่นหมายขันธ์ธาตุอายตนะนั้น ว่าของเรา. ภิกษุนั้น เมื่อไม่มั่นหมายอยู่อย่างนี้ ก็ไม่ถือมั่นสิ่งใด ๆ ในโลก, เมื่อไม่ถือมั่นก็ไม่สะดุ้ง, เมื่อไม่สะดุ้งก็ปรินิพพานเฉพาะตนนั่นเทียว, เธอนั้น ย่อมรู้ชัดว่า "ชาติสิ้นแล้ว พรหมจรรย์อยู่จบแล้ว กิจที่ควรทำได้ทำสำเร็จแล้ว กิจอื่นที่จะต้องทำเพื่อความเป็นอย่างนี้ มิได้มีอีก" ดังนี้.

ภิกษุ ท.! นี้แล คือ "ปฏิปทาเป็นเครื่องสะดวกแก่การเพิกถอนความมั่นหมายทั้งปวงนั้น.

- สฬา. สํ. 18/28/34.

(คำว่า ถอนความมั่นหมายโดยความหมาย 4 สถาน นั้น คือ 1. ไม่มั่นหมายถึงสิ่งนั้น 2. ไม่มั่นหมายในสิ่งนั้น 3. ไม่มั่นหมายโดยเป็นสิ่งนั้น 4. ไม่มั่นหมายว่าสิ่งนั้นของเรา ดังนี้.

สำหรับปฏิปทาเป็นเครื่องสะดวกแก่การเพิกถอนความมั่นหมายถึงสิ่งทั้งปวงนี้ ในสูตรถัดไป (18/29/35) ทรงแสดงไว้ด้วยวิธีปฏิบัติอย่างเดียวกันกับที่ทรงแสดงในอนัตตลักขณสูตรอันเป็นสูตรที่ศึกษากันอยู่อย่างแพร่หลาย จึงไม่นำมาแปลใส่ไว้ในที่นี้. โดยใจความนั้น คือพระองค์ตรัสเริ่มด้วยทรงสอบถาม แล้วพระภิกษุทูลตอบ แล้วตรัสว่าอริยสาวกเห็นอย่างนี้แล้ว ย่อมเบื่อหน่าย คลายกำ หนัด หลุดพ้น และเป็นอรหันต์ในที่สุด; ซึ่งชื่อธรรมแต่ละอย่าง ๆ ที่ทรงยกขึ้นสอบถามนั้น คือ อายตนะภายใน 6 อายตนะภายนอก 6 วิญญาณ 6 สัมผัสหกและเวทนา 6, รวมเป็นชื่อธรรมที่ทรงยกขึ้นถาม 30; และทรงเรียกการปฏิบัติระบบนี้ว่า (ปฏิปทาเป็นเครื่องสะดวกแก่การเพิกถอนความมั่นหมายถึงสิ่งทั้งปวง").


เกี่ยวกับธรรมโฆษณ์ออนไลน์ (Disclaimer)
แม้ระบบ "ธรรมโฆษณ์ออนไลน์" พยายามปรับปรุงข้อมูลให้ถูกต้องมากที่สุด ผู้ศึกษาก็พึงตรวจสอบกับตัวเล่มหนังสือต้นฉบับ ที่มีการพิมพ์ครั้งล่าสุด ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง"

หนังสือที่เกี่ยวข้อง